เว็บไซต์สำเร็จรูป & เว็บไซต์กึ่งสำเร็จรูป  


 
 
เมนูสำหรับลูกค้า
 
เมนูสำหรับผู้ประกอบการ
 
ฝ่ายบริการลูกค้า
จันทร์-ศุกร์  09.30 - 15.00 น.

ยืนยันการโอนเงินและการเปิดเว็บไซต์
โทร 0878334416 หรือ 084-634-3454

ปัญหาการใช้งานเว็บไซต์
โทร 08-9887-8972 
 
E-mail Support  
[email protected]

.


เว็บไซต์สำเร็จรูป & เว็บไซต์กึ่งสำเร็จรูป

ค้นหา
เว็บไซต์สำเร็จรูป & เว็บไซต์กึ่งสำเร็จรูป
เว็บไซต์สำเร็จรูป & เว็บไซต์กึ่งสำเร็จรูป

กลบท

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ ให้ความหมายของคำว่า "กลบท" ไว้ดังนี้

กลบท (กน-ละ-บด) น.คำประพันธ์ที่บัญญัติให้ใช้คำหรือสัมผัสเป็นชั้นเชิงยิ่งกว่าธรรมดา เช่น
อมรแมนแม่นแม้นเจ้างามโฉม(กลบทตรีประดับ)

ในคำประพันธ์ร้อยกรองแต่โบราณของไทยเรานั้น เรามีกลบททั้งที่เป็น กลอนกล ร่ายกล โคลงกล กาพย์กล และฉันท์กล แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะกลอนกล เท่านั้น

กลอนกล ก็คือกลอนสุภาพนั่นเอง แต่มีการแต่งเพิ่มลักษณะบังคับให้วิจิตรพิสดารมากยิ่งขึ้น เช่นบังคับให้มีสัมผัสสระ สัมผัสอักษร คำเป็น คำตาย คำซ้ำ และรูปวรรณยุกต์ เป็นต้น ว่าจะต้องมีอยู่ในตำแหน่งคำใดของกลอน แล้วตั้งชื่อเรียกการกำหนดข้อบังคับนั้นว่าเป็นกลบทชื่ออะไรต่างๆออกไป โดยมากกลอนกลมักจะแต่งเป็นกลอนเก้า เพราะบรรจุคำได้มากกว่า ทั้งจังหวะการอ่านก็เป็น จังหวะละสามพยางค์ การกำหนดข้อบังคับพิเศษขึ้นมาจึงมีจังหวะเสียงที่ลงตัวได้ดีกว่า กลอนกลบทมีมากมายหลายชนิด แต่ในที่นี้จะยกตัวอย่างมาให้เห็นบางชนิด ที่เห็นว่าเป็นศิลปะในการเขียนกลอนชนิดหนึ่ง ที่เราอาจจะนำมาใช้ได้บ้างในบางครั้งหากเห็นว่าจะช่วยทำให้กลอนที่แต่งมีเสียงและจังหวะที่อ่านหรือฟังแล้วไพเราะ

กลอนกลบทที่มีมาแต่โบราณนั้น มีอยู่หลายชนิดชื่อต่าง ๆ กันไป ได้แก่กลบทในชื่อต่อไปนี้

- กลอนกลบทสะบัดสะบิ้ง
- กลอนกลบทตรีประดับ(ตรีเพชร
)
- กลอนกลบทธงนำริ้ว

- กลอนกลบทอักษรสังวาส
- กลอนกลบทกินนรเก็บบัว
- กลอนกลบทพยัคฆ์ข้ามห้วย
- กลอนกลบทรักร้อย
- กลอนกลบทจักรวาล(ครอบจักรวาล
)
- กลอนกลบทยัติภังค์

- กลอนกลบทอักษรกลอนตาย
- กลอนกลบทกวางเดินดง.... เป็นต้น

กลบทกบเต้นต่อยหอย

 
 

คิดถึงน้อง ข้องถึงนวล ควรหรือหนอ

เคยสราญ ค้านสลัด เพราะขัดคอ

โอ้ใจเจ้า เอาใจจ่อ ต่อเพื่อนชาย

เร่งเตือนเจ้า เร้าเตือนจิต คิดรักหนัก

กลับโกรธเลี้ยว เกรี้ยวโกรธรัก รานสลาย

ซนแต่งอน ซ่อนแต่เงื่อน แชเชือนกลาย

ลืมเพื่อนชู้ หลู่เพื่อนชาย หาใหม่ชม

จะเห็นว่า ลักษณะพิเศษของกลบทกบเต้นต่อยหอยก็คือ คำที่ ๑,๒,๓ กับ ๔,๕,๖ในแต่ละวรรคจะสัมผัสอักษรกัน โดย

คำที่ ๑ จะสัมผัสอักษรกับคำที่ ๔
คำที่ ๒ จะสัมผัสอักษรกับคำที่ ๕
คำที่ ๓ จะสัมผัสอักษรกับคำที่ ๖

ทั้งนี้แต่ละวรรคจะสัมผัสอักษรตัวใดก็ได้ไม่จำเป็นต้องเป็นอักษรเดียวกันในทุกวรรค ดังตัวอย่างวรรคที่ 6 สัมผัสอักษรดังนี้ ซ ต ง - ซ ต ง (ซนแต่งอน ซ่อนแต่เงื่อน) วรรคสุดท้ายสัมผัสอักษร ล พ ช - ล พ ช (ลืมเพื่อนชู้ หลู่เพื่อนชาย) เป็นต้น เราสามารถนำกลเม็ดแบบนี้มาใช้กับกลอนที่เราแต่งได้ในบางวรรคที่เราต้องการ ช่วยให้กลอนของเราในวรรคนั้นดูมีศิลปะขึ้นมาทันที

ที่สำคัญอีกจุดหนึ่งก็คือ คำที่ ๓ จะสัมผัสสระกับคำที่ ๔ ในทุกวรรค

กลบทพยัคฆ์ข้ามห้วย

 
 

เสียแรงหวัง ใจมุ่ง ผดุงหวัง

ไม่ควรชัง ฤามาราน พาลชิงชัง

เออเป็นใจ ใครมั่ง ไม่น้อยใจ

สู้ถนอม แนบเนื้อ นี้เหลือถนอม

ก็เหตุไฉน ยังไม่ออม เสน่ห์ไฉน

เมื่ออาลัย ยังไม่ลืม ปลื้มอาลัย

ช่างเด็ดรอน รักได้ ไปรอนรอน

ในกลบทพยัคฆ์ข้ามห้วยนี้ ข้อบังคับอยู่ที่กำหนดให้ คำที่ ๓ ในแต่ละวรรคเป็นคำเดียวกันกับคำสุดท้ายในแต่ละวรรคนั้น ๆ

กลบทละลอกแก้วกระทบฝั่ง

 
 

โอ้แสนรัก โอ้ศักดิ์เรา ไม่เท่าถึง

แสวงมาด สวาทหมาย ไม่วายคะนึง

ลงนอนอิง แล้วนิ่งอึ้ง รำพึงเพียร

ข้างทุกข์พี่ ขาดที่ผู้ เป็นคู่คิด

ก็เพราะมา กำพร้ามิตร คิดหันเหียน

ดั่งตกชล ดูตนชาย เหมือนว่ายเวียน

แสนทุพล สู้ทนเพียร เวียนตะกาย

กลบทละลอกแก้วกระทบฝั่งนี้ มีลักษณะคล้ายๆกับคลื่นที่ทะยอยตามกันเข้ามากระทบฝั่ง นั่นคือคำที่ 1,2 และ 3 ในแต่ละวรรคนั้น จะเล่นสัมผัสอักษรเรียงทะยอยตามกันเข้ามา คือ
คำที่ ๑ สัมผัสอักษรกับคำที่ ๔
คำที่ ๒ สัมผัสอักษรกับคำที่ ๕
คำที่ ๓ สัมผัสอักษรกับคำที่ ๖
ตัวอย่างเช่น ในวรรคแรก ใช้คำว่า
โอ้แสนรัก โอ้ศักดิ์เรา คือเสียงพยัญชนะ ว่า ออ สอ รอ - ออ สอ รอ
วรรคต่อมา แสวงมาด สวาทหมาย คือเสียงพยัญชนะ ว่า สอ วอ มอ - สอ วอ มอ เป็นต้น

กลบทครอบจักรวาล

 
 

ขามจิตคิด ข้อหมาง ระคางขาม

ความจริงใจ นี่ไฉน จึงแหนงความ

ควรจะถาม ก็ไม่ถาม กันตามควร

ที่นางแกล้ง แปลงเรื่อง ให้เคืองที่

สรวลซิกซี้ กันเสียได้ ไม่ไต่สวน

จวนจะชื่น ช่างมาคืน ให้รัญจวน

ออสำนวน พี่นาง อย่างนี้ออ

กลบทครอบจักรวาลนี้ โบราณกำหนดให้คำแรกและคำสุดท้ายในแต่ละวรรค เป็นเสียงเดียวกัน(ซ้ำเสียงกัน) โดยแต่ละวรรคขึ้นต้นด้วยคำใด ก็ต้องลงท้ายด้วยคำที่มีเสียงซ้ำกัน(หรือคำเดียวกัน)

กลบทมังกรคายแก้ว

 
 

สารสงวน ควรมิตร สงวนสาร

นานคะนึง เสน่ห์น้อง คะนึงนาน

ทวีทุกข์ เหลือที่ทาน ทนทุกข์ทวี

โศกถวิล กินเทวษ ถวิลโศก

พี่ห่างน้อง ต้องวิโยค ด้วยห่างพี่

ปีกว่าปาน ประมาณไว้ ได้กว่าปี

แลสุดที่ จะพำนัก ที่สุดแล

ลักษณะพิเศษของกลบทมังกรคายแก้วก็คือ จะเอาคำที่ ๑,๒ ในแต่ละวรรคมาใช้ย้อนถอยหลังในตำแหน่งที่ ๗,๘ คล้ายๆ มังกรที่กลืนแก้วเข้าไป(ในคำที่ ๑,๒) แล้วคายแก้วออกมา (โดยคำที่ ๒ ต้องออกมาก่อนคำที่ ๑) ดังนั้นตำแหน่งที่ ๗,๘ ก็คือคำที่ ๒ และ ๑ ในวรรคนั้นนั่นเอง เช่น

สารสงวน จะมาใช้ในท้ายวรรคเป็น สงวนสาร
นานคะนึง จะมาใช้ในท้ายวรรคเป็น คะนึงนาน
ทวีทุกข์ จะมาใช้ในท้ายวรรคเป็น ทุกข์ทวี
โศกถวิล จะมาใช้ในท้ายวรรคเป็น ถวิลโศก
พี่ห่าง จะมาใช้ในท้ายวรรคเป็น ห่างพี่
ปีกว่า จะมาใช้ในท้ายวรรคเป็น กว่าปี
เป็นต้น

กลบทฉัครสามชั้น

 
 

หวนสวาท โหยถวิล สวาทหวน

ครวญคะนึง คะเนนึก คะนึงครวญ

ใจเศร้าโศก แสนกำสรวล โศกเศร้าใจ

เอ๋ยอกโอ้ หวังวิตก โอ้อกเอ๋ย

โฉนฤานี่ จึงเฉย นี่ฤาไฉน

ไกลสถาน ที่สถิตย์ สถานไกล

แค้นใจเจ็บ ด้วยอาลัย เจ็บใจแค้น

กลบท "ฉัตรสามชั้น" มีลักษณะคล้ายกันกับมังกรคายแก้ว คือการนำคำในต้นวรรคมาสลับที่ในสุดวรรคของแต่ละวรรคนั้น ๆ แต่ต่างกันตรงที่ มังกรคายแก้วใช้เพียงสองคำ ส่วน "กลบทฉัตรสามชั้น" นั้น จะใช้คำสามคำของต้นวรรค มาสลับคำในท้ายวรรค เช่น

หวนสวาท จะมาใช้ในท้ายวรรคเป็น สวาทหวน
ครวญคะนึง จะมาใช้ในท้ายวรรคเป็น คะนึงครวญ
ใจเศร้าโศก จะมาใช้ในท้ายวรรคเป็น โศกเศร้าใจ
เอ๋ยอกโอ้ จะมาใช้ในท้ายวรรคเป็น โอ้อกเอ๋ย
ไฉนฤานี่ จะมาใช้ในท้ายวรรคเป็น นี่ฤาไฉน
ไกลสถาน จะมาใช้ในท้ายวรรคเป็น สถานไกล
แค้นใจเจ็บ จะมาใช้ในท้ายวรรคเป็น เจ็บใจแค้น
เป็นต้น

กลบทเบญจวรรณห้าสี

 

แสนสุดโศก สั่งสาร เห็นนานหาย

คนข้างเคียง เคยคอย พลอยกลับกลาย

อกเอ๋ยโอ้ เอออาย เพราะหมายเกิน

หลงละเลิง ลมลิ้น ไม่กินแหนง

สายสนสื่อ เสกแสร้ง ช่วยเดินเหิน

โน่นนี่นั่น แนะนำ แล้วทำเมิน

ชักชวนเชิญ เชือนไช ไม่เหลียวแล

กลบท " เบญจวรรณห้าสี" มีลักษณะสำคัญอยู่ที่ คำที่ ๑ ถึง ๕ ในแต่ละวรรคจะสัมผัสอักษรกัน ทุกวรรคไป แต่ละวรรคก็จะสัมผัสอักษรอย่างหนึ่งอย่างใด(คำว่าสัมผัสอักษร หมายถึงใช้เสียงพยัญชนะต้นเสียงเดียวกัน)เช่น
แสนสุดโศกสั่งสาร.................สัมผัสอักษรเสียงพยัญชนะ สอ
คนข้างเคียงเคยคอย................สัมผัสอักษรเสียงพยัญชนะ ขอ (ข ค ฆ.เป็นเสียงเดียวกัน) เป็นต้น


กลบทกบเต้นสามตอน

 

เจ็บคำ จำคิด จิตขวย

หลงเชย เลยชม ลมชวย

ูรวย ด้วยรวน ด่วนร้าว

กลบท "กบเต้นสามตอน" นี้ มีช่วงจังหวะเป็นกลอนหก แต่แพรวพราวในการเล่นเสียงพยัญชะและสระ ถือว่า ใช้ศิลปะในการประพันธ์ชั้นสูงมาก จะเห็นว่าเป็นการเล่นเสียงพยัญชนะทั้งสามจังหวะ เช่น

เจ็บคำ จำคิด จิตขวย .......เล่นเสียงพยัญชนะ จอ คอ จอ คอ จอ คอ
........คำ สัมผัสสระกับ จำ และคิด สัมผัสสระกับ จิต

ยังมีกลบทอีกมากมายหลายชนิด แต่ที่กล่าวมาแล้วนั้นเพื่อพอเป็นตัวอย่างให้เห็นถึงศิลปะการประพันธ์ร้อยกรองของไทย ที่มีมาตั้งแต่โบราณ เป็นศิลปะทางการประพันธ์ที่แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของชาติ หากสนใจเรื่องกลบทและต้องการทราบรายละเอียด รวมถึงตัวอย่างมากกว่านี้ สามารถศึกษาหาอ่านได้จากหนังสือเรื่อง กลบทศิริวิบุลกิตติ์ ได้ค่ะ

 


คลิ๊กนี้มีความหมาย
เว็บไซต์สำเร็จรูป & เว็บไซต์กึ่งสำเร็จรูป เว็บไซต์สำเร็จรูป & เว็บไซต์กึ่งสำเร็จรูป